Guestpost โฟสฟรี ถ้าคุณมีสาระดีๆ ที่นี่เราให้คุณได้แบ่งปัน

Notifications
Clear all

รู้หรือไม่ 7-11 (เซเว่นอีเลฟเว่น) เปิด "โอนเงิน-รับเงิน" ได้แล้ว

1 Posts
1 Users
0 Likes
235 Views
thanunchai
(@thanunchai)
Posts: 2514
Member Moderator Registered
Topic starter
 

564000008729004

เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน โลกออนไลน์แชร์เรื่องราวว่า เซเว่นอีเลฟเว่นจะทำธุรกิจเหมือนธนาคาร ให้ลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินได้ ตอนนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิเสธ เพราะไม่มีนโยบายให้เอกชนขอใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารใหม่

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องราวจากต่างแดน ทำนองว่าที่ประเทศญี่ปุ่น มี “ธนาคารเซเว่น” ให้บริการทางการเงินถึงในร้านสะดวกซื้อ ทั้งบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต และโอนเงินระหว่างประเทศ หลายคนก็นึกภาพไปถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในเมืองไทย

ใครจะเชื่อว่า จากวันที่เซเว่นอีเลฟเว่น ทำหน้าที่เป็น แบงกิ้งเอเยนต์ (Banking Agent) เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์แห่งแรก ปัจจุบันมีธนาคารเข้าร่วม 9 แห่ง ทั้งฝากเงินสด ถอนเงินสด และยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เคาน์เตอร์เซอร์วิส ก็เปิดบริการโอนเงินภายในประเทศ โดยไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร ใช้ชื่อว่า “โอนปุ๊บ รับปั๊ป” ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กว่า 12,500 สาขาทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง

ทำให้นึกย้อนไปถึงประโยคที่ว่า “เซเว่นอีเลฟเว่นจะทำธุรกิจเหมือนธนาคาร” เมื่อ 2-3 ปีก่อน

จริงๆ แล้วบริการส่งเงินและรับเงินผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่นไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน เคาน์เตอร์เซอร์วิส เคยออกบริการที่ชื่อว่า “บัตรเชื่อมรัก” เมื่อปี 2548 แต่ตอนนั้นร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมีเพียงแค่ 3,000 สาขา

ขั้นตอนการส่งเงินและรับเงินขณะนั้นยุ่งยาก ต้องหาซื้อบัตรเชื่อมรัก ที่เป็นบัตรสมาร์ทเพิร์ส ต้องลงทะเบียนทั้งผู้ส่งเงินและผู้รับเงิน แถมผู้รับเงินลงทะเบียนที่สาขาไหน ต้องไปรับเงินที่สาขานั้น และต้องรอหลังเที่ยงวันของวันถัดไป

มาคราวนี้ บริการ “โอนปุ๊บ รับปั๊ป” ลดขั้นตอนจากอดีตลงไปเยอะมาก ใช้เพียงแค่บัตรประชาชนตัวจริงในการส่งเงินและรับเงินเท่านั้น โดยฝั่งผู้รับเงิน สามารถเข้าไปรับเงินที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเวลาเปิดของร้าน

คุณสมบัติคร่าวๆ คือ ต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทำรายการได้สูงสุดครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท และไม่เกิน 50,000 บาทต่อคนต่อวัน ชาวต่างชาติหรือแรงงานต่างด้าวสามารถโอนเงินได้โดยใช้บัตรสีชมพู หรือหนังสือเดินทาง

ขั้นตอนคร่าวๆ ก็คือ เอาบัตรประชาชนตัวจริง กับเลขที่บัตรประชาชน 13 หลักของผู้รับ พร้อมเงินที่ต้องการฝาก สูงสุดครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท มีค่าดำเนินการ 20 บาทต่อรายการ ไปที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาไหนก็ได้

เสียบบัตรประชาชนที่เครื่อง EDC เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณแล้วเอาบัตรออก ถอดแว่นตา ถอดหน้ากากอนามัยเพื่อถ่ายรูปยืนยันตัวตน ใส่เบอร์มือถือที่ติดต่อได้ เลขที่บัตรประชาชน 13 หลักของผู้รับ และจำนวนเงินที่ต้องการโอน

สำคัญที่สุดก็คือ ต้องกดเลขที่บัตรประชาชน 13 หลักของผู้รับให้ถูกต้อง เพราะผู้รับเงินจะต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงเสียบที่เครื่อง EDC เพื่อรับเงินเหมือนกัน หากเลขใดเลขหนึ่งผิด ผู้รับเงินอาจจะไม่สามารถรับเงินได้

ระบบจะแสดงข้อมูลที่หน้าจอ หากถูกต้องกดปุ่มสีเขียว แล้วชำระเงินโอนพร้อมค่าดำเนินการ 20 บาท พนักงานก็จะให้ใบเสร็จที่มี “รหัสรับเงิน” (Money Transfer Control Number หรือ MTCN) 11 หลัก ให้แจ้งไปที่ผู้รับปลายทางได้เลย

ส่วนผู้รับเงิน ให้นำบัตรประชาชนตัวจริง ไปที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาไหนก็ได้ แจ้งกับพนักงานว่า ขอรับเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (โอนปุ๊บ รับปั๊ป) เสียบบัตรประชาชนที่เครื่อง EDC ถ่ายรูปเพื่อยืนยันตัวตนการทำรายการ

คีย์รหัสรับเงิน (MTCN) กดจำนวนเงิน และกดเบอร์มือถือที่ติดต่อได้ ที่เครื่อง EDC ตรวจสอบความถูกต้องที่หน้าจอ หากถูกต้องกดปุ่มสีเขียวที่เครื่อง EDC เพื่อยืนยัน ก่อนรับเงินสดจากพนักงาน และรับใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐาน

การรับเงินผ่านบริการโอนปุ๊บ รับปั๊ป รหัสรับเงินจะมีอายุ 7 วัน ถ้าไม่มารับเงิน รหัสรับเงินก็จะหมดอายุ ผู้โอนจะต้องไปขอเงินคืนที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาที่ทำรายการโอนเงิน หากไม่มารับเงินภายใน 1 ปี จะมีค่ารักษาบัญชีเดือนละ 50 บาท

อาจมีคนสงสัยว่า เซเว่นอีเลฟเว่นจะออกบริการแบบนี้ทำไม ในเมื่อปัจจุบันเรายังสามารถโอนเงินให้กันผ่านมือถือได้ฟรี แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่สะดวกใช้บัญชีธนาคาร ต้องการรับเป็นเงินสดโดยตรง

แต่ละคนมีความต้องการและความจำเป็นในการส่งเงิน หรือรับเงินที่แตกต่างกันออกไป เช่น คนต่างจังหวัดมาทำงานในเมือง แล้วต้องส่งเงินกลับบ้าน หรือพ่อแม่ส่งเงินให้ลูก ที่เข้ามาเรียนหนังสือในเมือง หรือส่งเงินเพื่อใช้หนี้สินเป็นครั้งคราว

จากที่ทดลองใช้บริการ แม้จะไม่ยุ่งยากมากนัก แต่เมื่อต้องใช้ “เลขที่บัตรประชาชน” ของผู้รับเงิน จึงเหมาะสำหรับโอนเงินให้คนรู้จักหรือคนที่สนิทกันมากกว่า เช่น ลูกส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุ หรือส่งเงินให้เพื่อนที่สนิทกันจริงๆ

เพราะเลขที่บัตรประชาชน ถือเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่ไม่เหมาะสมหากนำมาเผยแพร่ต่อบุคคลอื่น เหมือนกับรหัสพร้อมเพย์ เพราะฉะนั้นเวลาโอนเงินหรือรับเงินจะต้องให้ความยินยอมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562

บางคนอาจจะโอนเงินผ่านธนาคารอยู่แล้ว แต่ในยามจำเป็นที่ต้องโอนเงินสดเร่งด่วน นอกเวลาทำการสาขาธนาคาร หรือในระยะหลังๆ ธนาคารแต่ละแห่งยุบสาขา หรือควบรวมสาขาที่ไกลขึ้น เซเว่นอีเลฟเว่นก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการโอนเงิน

ก็เหมือนกับบริการฝากเงินสด อาจมีคนสงสัยว่ามีสาขาธนาคารอยู่แล้ว จะไปฝากเงินที่เซเว่นอีเลฟเว่นให้เสียค่าธรรมเนียมทำไม แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารได้ตลอดเวลา เครื่องฝากเงินสดก็อาจจะหายาก

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2564 พบว่าจำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ลดลงจาก 6,368 สาขาในเดือนมกราคม 2564 เหลือเพียงแค่ 5,896 สาขา หรือยุบสาขาไปแล้วถึง 472 สาขา

ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำขนาดใหญ่ จากที่ในอดีตเคยมีสาขามากกว่า 1,000 สาขา ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียงแค่ 800-900 สาขาเท่านั้น และมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและรับกับกระแสเทคโนโลยี

ขณะที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 มีสาขารวมทั้งสิ้น 12,743 สาขา แบ่งออกเป็นสาขาแบบเอกเทศ 85% และสาขาในปั๊มน้ำมัน ปตท. อีก 15% ซึ่งซีพีออลล์ (CP ALL) เพิ่งจะต่อสัญญากับโออาร์ (OR) ต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

แม้จะเห็นร้านเซเว่นอีเลฟเว่นบางสาขาปิดตัวลง ในย่านแหล่งท่องเที่ยวหรือทำเลที่ซ้ำซ้อนกัน แต่ก็มีสาขาใหม่เปิดทดแทน ไตรมาสที่ผ่านมาเปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 156 สาขา ซึ่งปีนี้มีแผนที่จะลงทุนเปิดสาขาใหม่อีก 700 สาขาภายในปี 2564

ปัจจุบัน เซเว่นอีเลฟเว่นไม่ได้มีเพียงแค่อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ยังมีบริการอื่น ทั้งจ่ายบิล เติมเงิน ขายตั๋วโดยสาร ประกัน เป็นร้านขายกาแฟสด หรือแม้กระทั่งรับส่งพัสดุก็มีบริการเป็นของตัวเองเช่นกัน

ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ตามมาตรการภาครัฐ จากเดิมลดเวลาทำการเหลือไม่เกิน 5 โมงเย็น ก็เริ่มมีลูกค้าใช้ช่องทางตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ทดแทนมากขึ้น

แต่ตัวแทนธนาคารแต่ละแห่ง เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือที่ทำการไปรษณีย์ พบว่าให้บริการตามเวลาเปิด-ปิดทำการเท่านั้น ขณะที่การฝากเงินผ่านตู้เติมเงินมือถือ พบว่าค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 30 บาท สูงสุด 50-70 บาท ซึ่งถือว่าสูงเกินไป

เมื่อเทียบกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ปกติเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง (อาจจะมีเวลาเปิด-ปิดบ้างตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของภาครัฐ) อีกทั้งแต่ละสาขาอยู่ใกล้ชุมชนมากที่สุด จึงเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับแบงกิ้งเอเยนต์รายอื่นๆ

แม้บริการ “โอนปุ๊บ รับปั๊บ” อาจจะมาที่หลัง ในยุคที่ธุรกรรมทางการเงินของแต่ละธนาคารอยู่บนมือถือ แต่อย่างน้อยยังตอบสนองคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เห็นว่าเทคโนโลยีนั้นยุ่งยาก และสะดวกใจกับการทำธุรกรรมระหว่างมนุษย์ด้วยกันมากกว่า

ค่าธรรมเนียมฝากเงิน 15 บาท หรือโอนเงิน 20 บาท อาจจะดูเยอะ เมื่อเทียบกับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทั้งดีและฟรี แต่เมื่อเทียบกับต้องเดินทางไปสาขาธนาคารแล้ว หากสาขาที่ตั้งอยู่ห่างไกล ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่อยู่ใกล้บ้านอาจจะคุ้มกว่า

ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากช่องทางธนาคารที่คุ้นเคย จะเลือกใช้หรือไม่ก็ถือเป็นสิทธิของผู้บริโภค

#7 1-1 delivery โอน เงินได้ ไหม
#7 11 ถอนเงิน ได้ ไหม
#ขั้นตอนการโอนเงินผ่านเซเว่น
#เซเว่นโอนเงินได้ไหม 2564
#ฝากเงิน 7 1-1 Pantip
#ฝากเงิน 7 11 ไทย พาณิชย์
#ฝากเงิน 7 11 ธนาคารกสิกร
#ฝากเงิน 7-11 กรุงศรี
#ฝากเงิน 7-11 กสิกร
#ฝากเงิน 7-11 ออมสิน
#ฝากเงิน เซ เว่ น ไทย พาณิชย์
#ฝากเงิน เซ เว่ น. ไทย พาณิชย์ เงินไม่เข้า
#ฝากเงิน7-11 กรุงศรี
#ฝากเงินเซเว่น กสิกร pantip
#ฝากเงินเซเว่น เงินเข้าเลยไหม
#ฝากเงินเซเว่น เงินไม่เข้า
#รับโอนเงิน คิดค่าบริการ ยัง ไง
#อนุมัติ แล้ว 7 11 เป็นธนาคาร
#โอนเงิน เซ เว่ น. กรุงเทพ
#โอนเงิน ใน เซ เว่ น. ทำ ยัง ไง
#โอนเงินเซเว่น เงินเข้าเลยไหม
#โอนเงินเซเว่นขั้นต่ํา
#โอนเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส

เครดิต
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
https://m.mgronline.com/columnist/detail/9640000085434

 
Posted : 30/08/2021 7:14 am
Share: