ปัจจัยบวกหนุนสินเชื่อบ้านปีเสือ ส่อพลิกโต 6%-แบงก์ผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้

News ข่าวล่าสุด

แบงก์ประเมินสินเชื่อบ้านปี’65 พลิกกลับมาเป็นบวก 5-6% จากปีก่อนหดตัว -2% คาดยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งระบบอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท “กรุงศรี” ชี้ผ่อนเกณฑ์ LTV-เปิดเมืองหนุนกำลังซื้อกลับมาอ่านเกมแบงก์แข่งปล่อยกู้ออนไลน์แทนหั่นดอกเบี้ย ขณะที่ “ไทยพาณิชย์” เน้นเจาะฐานลูกค้าเดิม-พัฒนาแพลตฟอร์มดึงลูกค้าใช้สินเชื่อ ฟาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” คาดแบงก์ผ่อนคลายอนุมัติสินเชื่อ ปักธงสินเชื่อใหม่ 1.7 หมื่นล้านบาท

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2565 คาดว่าน่าจะขยายตัวดีกว่าปีก่อนภายใต้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ไม่รุนแรง จะเห็นตลาดค่อย ๆ กลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 1 และเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 2 และ 3 โดยทั้งปีประเมินว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเติบโต 1.5 เท่าของ GDP หรือการขยายตัวอยู่ที่ราว 5-6% ต่อปี หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท จากปี 2564 ที่คาดว่าหดตัว -2% ต่อปี

“ปีนี้การเติบโตคาดว่าจะมาจากสินเชื่อบ้านใหม่เป็นหลัก หลังจากปีก่อนสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์เป็นการพยุงตัวตลาดไม่ให้หดตัวแรง ซึ่งจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา ตลาดรีไฟแนนซ์ไม่ควรขยายตัวมาก เพราะไม่ช่วยภาคเศรษฐกิจจริง ประกอบกับหลังทยอยเปิดเมืองประชาชนเริ่มกลับมามีรายได้ปกติ ทำให้อำนาจการซื้อกลับมา”

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรวมถึงมาตรการลดค่าโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ที่จะช่วยกระตุ้นตลาด และความต้องการที่แท้จริง (real demand) กลับมา โดยจะเริ่มเห็นตลาดสินเชื่อบ้านกลับมาเติบโตเป็นบวกชัดเจนได้ภายในไตรมาส 1 นี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะเห็นเพิ่มเติมนอกจากการแข่งขันในตลาดสินเชื่อบ้าน จะเห็นธนาคารต่าง ๆ เริ่มพัฒนาการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ที่มีหลักประกัน หรือ digital mortgage มากขึ้น หลังจากทำสินเชื่อไม่มีหลักประกันไปแล้ว โดยในส่วนของธนาคารกรุงศรีฯได้พัฒนา “Home loan connect” เพื่อเชื่อมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ทั้งรายใหญ่และรายกลาง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเชื่อมกับดีเวลอปเปอร์ 2 ราย และเจรจาอีก 4-5 ราย ซึ่งจะหนุนให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกและง่ายขึ้นตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

“การแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยอาจจะเห็นไม่มาก เพราะตอนนี้มาร์จิ้นบางเฉียบ เหลือช่องแข่งไม่มาก และหากดูสินเชื่อบ้านเรา ดอกเบี้ยน่าจะถูกที่สุดในภูมิภาค จึงจะเห็นการแข่งขันด้านพัฒนานวัตกรรมเข้ามาแทน ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หวังว่าเศรษฐกิจดีขึ้น และสอดรับกับมาตรการช่วยเหลือหมด ลูกค้าน่าจะพอตั้งหลักได้ มีรายได้ผ่อนชำระได้” นายณัฐพลกล่าว

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อทั้งระบบในปี 2565 น่าจะเติบโตประมาณ 4% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อค่อย ๆ ฟื้นตัว รวมถึงมาตรการผ่อนคลาย LTV และมาตรการดึงดูดการลงทุนต่างชาติ โดยกลุ่มบ้านแนวราบจะเป็นกลุ่มนำการฟื้นตัวของตลาด และการฟื้นตัวของกลุ่มบ้านทาวน์เฮาส์ ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มที่มีกำลังซื้อน้อย

สำหรับกลยุทธ์ของธนาคารจะเน้นรักษาฐานลูกค้าเก่า โดยใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอวงเงินกู้เพิ่ม และปรับอัตราผ่อนให้ตรงความสามารถและความต้องการของลูกค้า

โดยในส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่ยังคงร่วมทำแคมเปญพิเศษกับดีเวลอปเปอร์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพ และกระตุ้นยอดโอนสำหรับโครงการพันธมิตร ซึ่งในปี 2565 ธนาคารเน้นเติบโตบ้านใหม่เป็นหลัก ส่วนรีไฟแนนซ์คาดจะเติบโตจากปีก่อนเล็กน้อย

“ในปีนี้เรามีแผนพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้สะดวกขึ้น โดยจะมีแพลตฟอร์มสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็ว แต่ปัจจุบันลูกค้าสามารถสมัครสินเชื่อใหม่ได้เพิ่มและบ้านแลกเงินผ่าน SCB Easy App ได้” นางสาวอรรัตน์กล่าว

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2565 น่าจะขยายตัวในระดับ 5-6% โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 3-4 ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งช่วยกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อบ้านเร็วขึ้น

และจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อ (approval rate) กลับมาดีขึ้น หลังจากในช่วงก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินให้ความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ ทั้งในแง่รายได้ และกลุ่มอาชีพ

ส่งผลให้ภาพรวมอัตราการอนุมัติสินเชื่อปรับลดลงราว 10% ทั้งในส่วนของบ้านใหม่ และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ โดยปัจจุบันสินเชื่อบ้านใหม่ยอดอนุมัติเฉลี่ยอยู่ที่ 60% และสินเชื่อรีไฟแนนซ์อยู่ที่ราว 80-90% ซึ่งผ่อนคลายตามภาวะเศรษฐกิจและมาตรการ LTV รวมถึงคลายล็อกดาวน์ ทำให้คนกลับมามีรายได้

“ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 20% จากปี 2564 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยประมาณ 60-70% หรือราว 8,400 ล้านบาท ยังคงมาจากสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ที่ขยายตัวได้ดีกว่าสินเชื่อบ้านใหม่” นายเอกสิทธิ์กล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance