(15 ก.ค.64)ผู้ว่า กนอ.เผยนิคมฯบางชัน ”ผ่านการตรวจประเมินรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Excellence ชี้พื้นที่สีเขียวรวมกันเกิน 20% ของพื้นที่อุตสาหกรรม เร่งหามาตรการ-สิทธิประโยชน์ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการนิคมฯ หวังสร้างอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ได้ผ่านการตรวจประเมินรับรองจากคณะกรรมการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Excellence หรือนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืน บนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้กนอ.ได้แบ่งการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ Eco-Champion, ระดับ Eco-Excellence และระดับ Eco-World Class โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทุกแห่งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยปีนี้มีเป้าหมายยกระดับนิคมอุตสาหกรรมขึ้นสู่ระดับ Eco-Excellence จำนวน 3 แห่ง ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางชันเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ทั้งนี้ กนอ.ได้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดซึ่งเข้าใจว่าอาจมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้น กนอ.กำลังเร่งหามาตรการจูงใจผู้ประกอบการว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เพื่อไม่ใช่ขอความร่วมมือหรือความสมัครใจเพียงอย่างเดียวแต่จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมบางชันและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีการจัดทำแนวป้องกันหรือพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Buffer Zone) หรือพื้นที่สีเขียวรวมกันมากกว่า20% ของพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งดำเนินงานด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน อาทิ จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพให้ชุมชน ช่วยจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย จัดทำโครงการช่วยเหลืออุปกรณ์ประกอบการเลี้ยงเป็ดไก่ และนำของเสียจากโรงงานผลิตอาหารมาปรับปรุงเพื่อสร้างมูลค่าเป็นอาหารสัตว์และลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชากรในชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น อีกทั้งมีการใช้วัตถุดิบ น้ำ พลังงาน และทรัพยากรอื่นๆ ร่วมกัน (Symbiosis หรือ Circular economy) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดการเกิดของเสีย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย อีกทั้งโรงงานในนิคมฯ ยังมีการแลกเปลี่ยนหรือใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ หรือมีการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงงานกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการกลั่นตัวทำละลายกลับมาใช้ใหม่ และกระบวนการแยกอลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งลดค่าต้นทุนวัตถุดิบได้ประมาณ 5%
“กนอ.กำหนดวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาค ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน โดยใช้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ ภายใต้กรอบ 5 มิติ คือ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยความใส่ใจในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน