เตรียมนับเวลาถอยหลัง สู่การปิดตำนาน “สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือที่เราเรียกกันว่า “หัวลำโพง” สถานีรถไฟหลักที่สำคัญที่สุดในประเทศ ที่เปิดบริการมาเนิ่นนานถึง 105 ปี ที่พร้อมยุติบทบาทลงในสิ้นปีนี้ และใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีสุดท้ายหรือเป็นสถานีต้นทางและปลายทางแทน
ในวันนี้สถานีรถไฟกรุงเทพกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง จากสถานีรถไฟของการเดินทางทั้งเป็นสถานีเริ่มต้นและสถานีปลายทาง รวมถึงพื้นที่ย่านหัวลำโพงทั้งหมดมาพัฒนาปรับโฉมสู่คอมมูนิตี้มอลล์แบบใหม่หรือศูนย์กลางแหล่งชอปปิ้ง โรงแรม ภายใต้แนวคิด ยังคงความเป็นอาคารอนุรักษ์ ผสมผสาน
แต่เดิม “สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สถานีรถไฟหัวลำโพง” โดยคำว่า “หัวลำโพง” สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามคลองและทุ่งที่มีฝูงวัวที่วิ่งกันคึกคัก ที่เรียกว่า ทุ่งวัวลำพอง และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น หัวลำโพง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นลำโพง ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้
ความเป็นมาของสถานีแห่งนี้เริ่มสร้างในสมัย รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเริ่มใช้งาน วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ สถานีรถไฟหัวลำโพง เดิมเป็นสถานีที่ให้บริการทั้งด้านการขนส่งสินค้า และขนส่งมวลชน ต่อมาการขยายตัวในด้านการโดยสารและขนส่งสินค้ามีมากขึ้น แต่ด้วยพื้นที่อันจำกัดเพียง 120 ไร่ จึงทำให้ต้องย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ที่ย่านสินค้าพหลโยธิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และทำการปรับปรุงสถานีรถไฟหัวลำโพงให้เป็นสถานีรถไฟสำหรับบริการด้านขนส่งมวลชนเพียงอย่างเดียว เพื่อสามารถรองรับผู้โดยสารจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ
ตัวสถานีแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ อาคารมุขหน้า มีลักษณะเหมือนระเบียงยาว และอาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก คือ เป็นงานเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณของกรีก – โรมัน จุดเด่นของสถานีหัวลำโพงอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาซึ่งติดตั้งไว้กลางส่วนโค้งของอาคารด้านในและด้านนอก โดยเป็นนาฬิกาที่สั่งทำขึ้นพิเศษเป็นการเฉพาะ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตเหมือนนาฬิกาทั่วๆ ไป ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของสถานีนี้ โดยจะเป็นส่วนที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ ส่วนพื้นที่ด้านในโถงสถานีจะมีการปรับปรุงให้เป็นโมเดิร์นมากขึ้น
สำหรับแนวทางรถไฟ จะมีการจัดระเบียบใหม่ให้มีความสะอาดสวยงาม และทันสมัย เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย สำหรับประชาชนที่อยู่สองข้างทาง จะต้องจัดระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบุกรุกซ้ำซาก โดยเน้นย้ำให้จัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนสามารถทำมาค้าขายได้ด้วย
ด้วยทำเลของสถานีรถไฟกรุงเทพมีที่ตั้งที่โดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากเป็นทั้งย่านเมืองเก่า ไชน่าทาวน์ และอยู่ไม่ห่างจากรอบเกาะรัตนโกสินทร์ กับอีกฝั่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ จึงพัฒนาออกมาในรูปแบบการผสมผสานระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย ภายใต้ชื่อ “Hualampong Heritage Complex” โดยอาคารโดมสถานีหัวลำโพงด้านหน้าจะอนุรักษ์ไว้เพื่อรำลึกประวัติศาสตร์ของกิจการรถไฟไทยในอดีต
โดยในเฟสแรกจะมีการปรับปรุงอาคารโดมสถานีกรุงเทพ พื้นที่ประมาณ 25,000 ตารางเมตร ซึ่งจะมีการบูรณะโดยคงสถาปัตยกรรมเดิมและพัฒนาโถงด้านในเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าแบรนด์เนม พิพิธภัณฑ์รถไฟ ส่วนพัฒนาพื้นที่ส่วนถัดไป เป็นอาคารสำนักงาน ลานกิจกรรม และทางลงท่าเรือ เพื่อใช้สำหรับการท่องเที่ยวทางน้ำรูปแบบใหม่ๆ
นอกจากนี้หากใครไปเก็บภาพความทรงจำกับสถานีรถไฟแห่งนี้ ก็มีอีกหนุ่งจุดสำคัญซึ่งอยู่ที่ด้านหน้าสถานีมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน เป็นอนุสาวรีย์ “ช้างสามเศียร” มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน
หลังจากที่สถานีรถไฟเก่าแก่ที่สุดของไทยยุติบทบาทลง เราอาจไม่มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศของสถานที่แห่งนี้ ในฐานะสถานีต้นทางและปลายทางกรุงเทพอีกต่อไปแล้ว จะเหลือเพียงเป็นความทรงจำของผู้คนที่ชื่นชอบหลงใหลในเสน่ห์การเดินทางของรถไฟ และหากใครอยากไปเก็บบรรยากาศความทรงจำดีๆ ก็ลองหาโอกาสไปเยี่ยมเยือนกันได้
แหล่งข่าว-ภาพ https://www.mgronline.com/travel/detail/9640000113793