“กระชายขาว” ราคาพุ่งเท่าตัว หลังคนแห่ซื้อต้มกินต้านโรค บางวันแทบไม่พอขาย

ชัยภูมิ

(15 ก.ค.64) จากการสำรวจในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ โดยที่ตลาดสดเทศบาลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว และตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ ตามแผงขายพืชผัก มีชาวบ้านที่มาจ่ายตลาด มาเลือกซื้อหาหัวกระชายขาวหลายคน

นางสายสุณี (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี แม่ค้าขายผักในตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ กล่าวว่า กระชายช่วงนี้ขายดีมากแทบไม่พอขาย มีการปรับเพิ่มราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาประมาณ 1 สัปดาห์ จากเดิมราคากิโลกรัมละ 80 บาท ตั้งแต่ต้นสัปดาห์มาถึงปัจจุบัน ซื้อมาราคาขายส่งที่กิโลกรัมละ 140 บาท นำมาขายให้กับลูกค้า กิโลกรัมละ 160 บาท

นางสายสุณี กล่าวต่อว่า อีกทั้งบางวันมีน้อยขาดตลาดและไม่พอขาย โดยแต่ละคนจะซื้ออย่างน้อยครึ่งกิโลกรัม ไปจนถึง 2 กิโลกรัม หรือบางคนซื้อถึง 5 กิโลกรัม โดยบอกว่าจะซื้อไปต้มเป็นน้ำกระชายต้มขาย สมุนไพรไทยต้านโรค

“หัวกระชายสดที่นำมาขายในช่วงนี้ขายดีมาก บางวันก็ไม่พอขาย แม้ว่ากระชายมีราคาแพงขึ้น แต่คนก็ยังซื้อ เพราะว่าโรคนี้อันตราย ใคร ๆ เขาก็กลัว คนก็อยากป้องกันตัวเอง คาดว่าไม่เกิน 5 วัน กระชายราคาจะพุ่งไปที่กิโลกรัมละ 150-200 บาทอีกด้วย” นางสายสุณี กล่าว

กรณีเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก ประชาชนจึงแห่ซื้อสมุนไพรมารับประทาน โดยหนึ่งในสมุนไพรที่ขายดีคือ “กระชายขาว” ซึ่งหลายคนเชื่อว่าช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ขณะนี้กระชายสดราคาพุ่งถึงกิโลกรัมละ 150-200 บาท จากปกติกิโลกรัมละ 30-50 บาท จนบางแห่งขาดตลาด (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.64)

ทำความรู้จัก “กระชาย”

ข้อมูลจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน ระบุว่า กระชาย มีชื่อสามัญเรียกหลายอย่าง Fingerroot หรือ Chainese ginger หรือ Chainese Key หรือ Galingale มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

อยู่ในวงศ์ขิง ZINGIBERACEAE เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า รากสะสมอาหารจนพองเป็นก้านคล้ายนิ้วมือ เรียกว่า แง่ง ถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกกันว่า “ขิงจีน” มีลักษณะและสรรพคุณเช่นเดียวกับ “โสม” ที่สำคัญมีผลข้างเคียงในทางลบกับร่างกายคนไม่มาก ราคาก็ไม่สูงนัก ให้ประโยชน์มากมาย ชาวจีนใช้แทนโสม จึงนับว่ากระชายเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรจะมองข้าม

จากผลวิจัยพบว่าคุณค่าทางอาหารที่กระชายมี อยู่ในแง่ง เหง้าหรือหัว น้ำหนัก 100 กรัม ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม เส้นใยอาหาร 2.0 กรัม น้ำตาล 1.7 กรัม โปรตีน 1.8 กรัม โพแทสเซียม 415 มิลลิกรัม โซเดียม 13 มิลลิกรัม ไขมันอิ่มตัว 0.2 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัว 0.2 กรัม วิตามีนบีหก 8% วิตามีนซี 8% แคลเซียม 2% เหล็ก 3% แมกนีเซียม 11%

สารอาหารต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีผลต่อร่างกายผู้บริโภคทั้งนั้น จึงมีผู้คนนำเอาไปประกอบอาหาร ทำเครื่องดื่ม และเป็นยา หรือเป็นส่วนประกอบของยา นอกจากนี้ผลวิจัยยังชี้ว่าในกระชายมีสาร pinostrobin ที่ช่วยต้านเชื้อพลาสมา สาเหตุของโรคมาลาเรีย อีกทั้งยังมีสารคลอโรฟอร์มและเมทานอล ต้านพยาธิที่ทำให้ท้องเสีย หรือสาร pinocembin สาร panduratina สาร alpinetin ต้านทานเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดอีกด้วย

กระชาย ที่ใช้ประโยชน์กันแพร่หลาย มี 3 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง หรือกระชายขาว มีชื่อเรียกในแต่ละถิ่นต่างกันบ้าง เช่น ภาคเหนือ เรียก ละแอน หรือ ระแอน ทางภาคอีสาน เรียก กะแอน หรือขิงทราย ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน ซึ่งนิยมใช้กันมาก เรียก จี้ปู, ซีฟู, เปาซอเราะ, เปาะสี่ หรือ ขิงจีน

ทางกรุงเทพฯ รู้จักกันในชื่อ ว่านพระอาทิตย์ อาจจะเป็นเพราะมีลักษณะแง่ง เหง้า เป็นเช่นเดียวกัน แง่งและเหง้ากระชาย เจริญอยู่ใต้ดิน ที่สำคัญเรืองแสงเวลากลางคืน บ้างมีลักษณะคล้ายหุ่นตัวคนคล้ายโสม คนต่างประเทศเลยเรียกกระชายเป็น โสมคน หรือ โสมไทย และชาวจีนมีความนิยมใช้กระชายแทนโสม จึงเรียกว่า ขิงจีน เป็นสมุนไพรที่ชาวจีนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ทดแทนพวกโสมที่ราคาแพงกว่ามาก

แหล่งข่าว

https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6510107
https://www.prachachat.net/general/news-713762